หนังสือเดินทางไทย

หนังสือเดินทางไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ย. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 ส.ค. 2567

| 204,512 view

Website-Icon-2-70_2

1. หลักเกณฑ์และข้อมูลทั่วไป

     - ต้องมาดำเนินการด้วยตนเองเท่านั้น เนื่องจากต้องบันทึกข้อมูลชีวภาพ (เก็บลายนิ้วมือ สแกนม่านตา และถ่ายรูป)

     - เด็ก/ผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) บิดาและมารดา และ/หรือผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ต้องมาแสดงตนพร้อมผู้เยาว์ เพื่อลงนามให้ความยินยอมด้วย

     - ผู้ที่เกิดในต่างประเทศและยังไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านไทย ทำหนังสือเดินทางเล่มแรกได้ (อายุใช้งานไม่เกิน 5 ปี) หนังสือเดินทางตั้งแต่เล่มที่ 2 เป็นต้นไปต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไทยเท่านั้นถึงจะทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้

     - วิธีการการเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านไทย ทำได้ 2 วิธี
           1. ดำเนินการด้วยตนเองที่ประเทศไทย ที่สำนักงานเขต/อำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่
           2. หากไม่สามารถกลับไปดำเนินการด้วยตนเองได้ กรุณาติดต่อเขต/อำเภอ ที่ประสงค์เพิ่มชื่อบุตรเข้าในทะเบียนบ้าน เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการมอบอำนาจ เมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้ว สามารถทำหนังสือมอบอำนาจได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ

***การทำหนังสือเดินทางเล่มที่ 2 รวมถึงกรณีผู้เยาว์ที่เกิดในต่างประเทศ เมื่ออายุถึงเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนดให้ต้องทำบัตร ปชช.แต่มิได้เดินทางกลับไปทำบัตรใบแรกที่ประเทศไทย กรณีมีหลักฐานทางทะเบียนราษฏร์ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ เอกสารที่ต้องเตรียมคือ

  • เอกสารหลัก - หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เล่มล่าสุด แทนบัตร ประชาชน
  • เอกสารเพิ่มเติม
      1.กรณีที่ผู้ขอ นสดท. เคยมีบัตรประชาชนและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
          1.1 ทะเบียนราษฏร (เจ้าหน้าที่พิมพ์จากระบบทะเบียนออนไลน์)
          1.2 บัตร ปชช.ที่หมดอายุแล้ว (หากมี)
          1.3 ทะเบียนบ้าน (หากมี)
          1.4 พยานบุคคลที่มีสัญชาติไทย พร้อมเอกสารยืนยันตัวตนที่ออกโดยหน่วยงานของประเทศไทยและบันทึกปากคำยืนยันตัวบุคคลตามแนวทางที่กระทรวงฯกำหนด
 
      2.กรณีที่ผู้ขอ นสดท. มีชื่อในทะเบียนบ้านแต่ยังไม่มีบัตร ปชช.ใบแรก
          2.1 กรณีที่ผู้ขอ นสดท.สามารถเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อทำบัตร ปชช.ใบแรก จะพิจารณาออกเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document: ETD)
          2.2 กรณีที่ผู้ขอ นสดท.มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยได้ ให้แสดงหลักฐานเพิ่มเติม ดังนี้
               2.2.1 สูติบัตร หรือแบบรับรองการเกิด
               2.2.2 ทะเบียนบ้าน (หากมี)
               2.2.3 พยานบุคคลที่มีสัญชาติไทย พร้อมเอกสารยืนยันตัวตนที่ออกโดยหน่วยงานของประเทศไทยและบันทึกปากคำยืนยันตัวบุคคลตามแนวทางที่กระทรวงฯกำหนด
 
***หมายเหตุ
 
     - กรณีหนังสือเดินทางทั้งที่หมดอายุหรือยังมีอายุอยู่สูญหาย ไม่ต้องแจ้งความหายแต่อย่างใด สามารถจองคิวขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้เลย
 
     - กรณีที่ผู้ขอ นสดท.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งจะไม่สามารถทำบัตร ปชช. หรือ นสดท.ได้ ขอให้ผู้ร้องขอฯ ได้เพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านก่อน
 

     - ควรทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่อย่างน้อย 6 เดือน ก่อนที่หนังสือเดินทางเล่มเดิมจะหมดอายุ เพื่อป้องกันปัญหาในการยื่นขอต่อหรือเปลี่ยนวีซ่า ปัญหาสายการบินปฏิเสธการขึ้นเครื่อง หรือหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอื่นปฏิเสธการเดินทางเข้าประเทศ

     - ไม่สามารถต่ออายุหนังสือเดินทางเล่มเดิมที่หมดอายุได้ ต้องทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่เท่านั้น

     - ระยะเวลาได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ 4 - 8 สัปดาห์ เนื่องจากต้องผลิตเล่มที่ประเทศไทย

     - ชื่อ-นามสกุล ภาษาอังกฤษในบัตรประชาชน ต้องตรงกันกับ ชื่อ-นามสกุล ภาษาอังกฤษในหนังสือเดินทาง หากไม่ตรงกัน ต้องทำบัตรประชาชนใหม่ก่อน

     - กรณีที่ต้องการเปลี่ยนนามสกุลในหนังสือเดินทางตามการสมรสหรือการหย่า ต้องดำเนินการที่สำนักงานเขต/อำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศไทยก่อนมาทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ

 

2. เอกสารที่ต้องใช้ในการขอทำหนังสือเดินทาง

     2.1 หนังสือเดินทางสำหรับบุคคลทั่วไป (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป) เคยมีหนังสือเดินทางแล้วมาทำเล่มใหม่
เอกสารที่ต้องใช้

          - หนังสือเดินทางเล่มเดิม 

          - บัตรประจำตัวประชาชน ที่มีอายุใช้งาน ชื่อ-นามสกุลภาษาอังกฤษ ตรงกับหนังสือเดินทาง

     2.2 เอกสารเพิ่มเติมสำหรับบุคคลทั่วไป (อายุ 20 ปีบริบูรณ์ ขึ้นไป) กรณีทำหนังสือเดินทางเล่มแรก

          - สูติบัตรไทย (ต้นฉบับ)

          - หนังสือเดินทางหรือใบขับขี่ของออสเตรเลีย

     2.3 หนังสือเดินทางผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุต่ำ 20 ปี) เล่มที่สองเป็นต้นไป
          - เอกสารผู้เยาว์

               - ผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ หรือบิดามารดา ต้องมาแสดงตนพร้อมผู้เยาว์ เพื่อลงนามให้ความยินยอมด้วย

               - สูติบัตรไทย

               - ทะเบียนบ้าน(กรณีทำหนังสือเดินทางเล่มที่สองขึ้นไป)

               - บัตรประชาชน (อายุ 7 ปีขึ้นไปต้องมีบัตรประจำตัวประชาชนโดยบัตรฯใบแรกต้องทำที่ประเทศไทย)

          - เอกสารผู้ปกครอง/บิดา/มารดา

               - บิดา/มารดาสัญชาติไทย บัตรประชาชน

               - กรณีบิดา/มารดาเป็นชาวต่างชาติ หนังสือเดินทาง หรือ ใบขับขี่

               - เอกสารเพิ่มเติมของผู้ปกครอง/บิดา/มารดา

               - หนังสือปกครองบุตร (ป.ค. 14) กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายไทย และผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะของมารดาแต่ผู้เดียว

               - ทะเบียนหย่าและบันทึกการหย่า กรณีที่ระบุให้บิดา หรือ มารดา มีอำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียว

               - คำสั่งศาล กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และบุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดาที่ระบุให้บิดา หรือ มารดา มีอำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียว

               - หนังสือรับรองบุตรบุญธรรม กรณีบิดา/มารดา รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม

               - ใบมรณบัตร กรณีบิดาหรือมารดาเสียชีวิต

               - หนังสือให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ กรณีบิดาและมารดา และ/หรือผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์ ไม่สามารถมาแสดงตนและลงนามให้ความยินยอมได้

               - กรณีบิดาและมารดาอยู่ที่ประเทศไทย ให้บิดาและมารดาจัดทำหนังสือยินยอม โดยต้องไปลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่เขต/อำเภอ/หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น

               - กรณีบิดาและมารดาอยู่ในต่างประเทศ ให้บิดาและมารดาจัดทำหนังสือยินยอมที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศนั้น

               - หนังสือมอบอำนาจ กรณีผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปี กรณีทั้งบิดาและมารดา (หรือผู้มีอำนาจปกครอง) ไม่สามารถมาแสดงตนและลงนามให้ความยินยอมได้ โดยมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่อายุ 20 ปีขึ้นไปเป็นผู้ลงนามแทน

 

3. ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทางที่สถานกงสุลใหญ่ฯ

     - กดบัตรคิว “ทำหนังสือเดินทาง”

     - สแกน QR Code “ทำหนังสือเดินทาง” กรอกแบบฟอร์มคำร้องขอทำหนังสือเดินทางออนไลน์ (กรอกแบบฟอร์มในวันที่มายื่นคำร้องเท่านั้น)

     - รอเรียกคิว

     - ระยะเวลาการเก็บข้อมูลเพื่อทำหนังสือเดินทาง 10 - 15 นาที กรณีเอกสารครบถ้วน

     - ระยะเวลาการรอคิว ประมาณ 30 – 60 นาที ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มารับบริการ

     - ค่าธรรมเนียม

          - หนังสือเดินทาง 5 ปี 60 ดอลลาร์

          - หนังสือเดินทาง 10 ปี 90 ดอลลาร์

 

4. การรับหนังสือเดินทางเล่มใหม่

     - รับด้วยตนเอง ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ตามวันเวลาที่นัดหมาย พร้อมใบรับเล่มหนังสือเดินทาง

     - ให้บุคคลอื่นรับแทน ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ สิ่งที่ต้องนำมาแสดง 1) ใบรับเล่มหนังสือเดินทาง 2) เอกสารแสดงตนของผู้มารับแทน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ 

     - ส่งไปรษณีย์ต้องเตรียมซองไปรษณีย์มาด้วยตนเองพร้อมจ่าหน้าซองชื่อ-นามสกุล ระบุที่อยู่ที่ให้จัดส่งหนังสือเดินทางไปให้ มอบให้เจ้าหน้าที่ในวันที่มาทำหนังสือเดินทาง

 

5. คำถามที่พบบ่อย

     ถาม หนังสือเดินทางหมดอายุแล้ว เมื่อมาทำเล่มใหม่จะเสียค่าปรับหรือไม่
     ตอบ ไม่มีค่าปรับ แต่ต้องเสียแค่ค่าธรรมเนียมสำหรับการทำเล่มใหม่

     ถาม หนังสือเดินทางเล่มเดิมยังไม่หมดอายุ สามารถทำเล่มใหม่ได้หรือไม่
     ตอบ สามารถทำเล่มใหม่ได้ โดยอายุของหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะเริ่มตั้งแต่วันที่มายื่นเรื่อง มิใช่ต่อเนื่องจากวันที่เล่มเก่าหมดอายุ

     ถาม ในวันที่ยื่นขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ จะทราบหมายเลขหนังสือเดินทางเล่มใหม่เพื่อนำไปใช้ยื่นเรื่องที่จำเป็นได้หรือไม่
     ตอบ ยังไม่สามารถทราบได้ จะทราบต่อเมื่อได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่เท่านั้น

     ถาม หากหนังสือเดินทางหมดอายุแล้ว และต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเป็นเร่งด่วน ต้องทำอย่างไร
     ตอบ สามารถขอทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารเดินทางฉุกเฉิน เพื่อใช้เฉพาะเดินทางกลับประเทศไทยเท่านั้น

     ถาม บิดา/มารดา อยู่ต่างรัฐในออสเตรเลีย ไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมได้ เช่น มารดา อยู่ซิดนีย์ บิดาอยู่รัฐอื่น จะต้องทำอย่างไร
     ตอบ บิดา/มารดา ที่ไม่สามารถมาลงนามได้ ต้องดำเนินการดังนี้
          1) ทำหนังสือให้ความยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางต่างประเทศ
          2) นำหนังสือให้ความยินยอมฯ ไปรับรองจาก NOTARY PUBLIC
          3) นำไปให้กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย the Department of Foreign Affairs and Trade (DFAT) รับรอง (Authentication) และ
          4) ส่งหนังสือยินยอมฯ มารับรองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อประกอบการทำหนังสือเดินทางของผู้เยาว์

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาส่งมาที่อีเมล: [email protected]

 

*****************
สถานะวันที่ 22 พ.ย. 2564