หนังสือมอบอำนาจ

หนังสือมอบอำนาจ

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ส.ค. 2565

| 30,657 view

Website-Icon-2-70_2

การขอทำหนังสือมอบอำนาจ (Power of Attorney) (สำหรับบุคคลสัญชาติไทย)

1.หลักเกณฑ์และข้อมูลทั่วไป

     - การมอบอำนาจ หมายถึง การที่บุคคลหนึ่ง (ผู้มอบอำนาจ) มอบให้บุคคลอีกคนหนึ่ง (ผู้รับมอบอำนาจ) มีอำนาจทําการแทน และการกระทํามีผลทางกฎหมายเสมือนว่าตัวทําการนั้นเอง ในกรณีผู้มอบอำนาจ ไม่สามารถกระทำการนั้นได้ด้วยตนเองที่ประเทศไทย โดยมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการแทนที่สำนักงานเขต/อำเภอ หน่วยงานราชการอื่นๆ (เช่น กรมที่ดิน) การทำธุรกรรมที่ธนาคาร (กู้สินเชื่อ) หรือธุรกรรมอื่นๆ เช่น ซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์

     - ตัวอย่างกรณีการใช้หนังสือมอบอำนาจ

          - มอบอำนาจทั่วไป

          - การย้าย-เพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้าน

          - ให้ความยินยอมบุตรซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปีทำหนังสือเดินทาง

          - ธุรกรรมเรื่องที่ดิน-โฉนด (ท.ด. 21) *ต้องใช้แบบฟอร์มของกรมที่ดิน

          - ธุรกรรมเรื่องอาคารชุด (อ.ช. 21)

          - ขอหนังสือรับรองความเป็นโสด (รับรองโสด)

          - ขอบันทึกฐานะทางครอบครัวหลังการสมรส (แจ้งแต่งงาน)

          - ขอบันทึกฐานะทางครอบครัวหลังการหย่า (แจ้งหย่า)

          - ขอเปลี่ยนชื่อตัว

          - ขอตั้งชื่อรอง

          - ขอตั้งชื่อสกุลใหม่

          - ขอคัดสำเนาใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุล

          - ขอคัดสำเนาใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ใบสำคัญการหย่า ทะเบียนการหย่า

          - ขอคัดสำเนาสูติบัตรหรือขอหนังสือรับรองเกิด

          - ขอแก้ไขรายการในเอกสารทะเบียนราษฏร์ ได้แก่ สูติบัตร มรณบัตร ทะเบียนบ้าน

          - ขอหนังสือรับรองอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          - ดำเนินการรับรองเอกสารต่าง ๆ ที่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

          - ขอหนังสือแสดงสิทธิปกครองบุตร (ปค. 14)

     - สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ให้บริการทำหนังสือมอบอำนาจ-รับรองลายมือชื่อในเอกสารไทยและบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น

     - ผู้มอบอำนาจต้องมาแสดงตนเพื่อลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่กงสุล ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เท่านั้น (ไม่รับคำร้องทางไปรษณีย์)

     - ผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุบรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปี ขึ้นไป)

     - สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ รับรองเฉพาะลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจเท่านั้น โดยไม่ได้รับรองเนื้อหาหรือข้อความในเอกสาร


2.เอกสารประกอบการทำหนังสือมอบอำนาจ

     2.1 เอกสารผู้มอบอำนาจ

          - แบบฟอร์มคำร้องนิติกรณ์ โดยกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วน

          - แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจทั่วไปของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ หรือแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจของหน่วยงานราชการที่ท่านมีความประสงค์จะขอรับบริการในประเทศไทย โดยกรอกแบบฟอร์มให้ครบถ้วน

          - การมอบอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับที่ดิน ต้องใช้แบบฟอร์มมอบอำนาจของกรมที่ดิน (ท.ด. 21 หรือฟอร์มอื่น) ที่กรอกครบถ้วนแล้ว ดูตัวอย่างหนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับที่ดิน

          - บัตรประจำตัวประชาชนไทย (ที่มีอายุใช้งาน) พร้อมสำเนา 1 ชุด และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

          - หนังสือเดินทางไทย (ที่มีอายุใช้งาน) พร้อมสำเนา 1 ชุด และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

          - สำเนาเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทะเบียนบ้าน ใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล สูติบัตร ฯลฯ จำนวน 1 ชุด และเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง

          - ค่าธรรมเนียม 25 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ต่อตราประทับ

     2.2 เอกสารผู้รับมอบอำนาจ

          - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้รับมอบอำนาจ 1 ชุด


3.ขั้นตอนการทำหนังสือมอบอำนาจ

     - กรอกแบบฟอร์มคำร้องนิติกรณ์ และกรอกแบบฟอร์มหนังสือมอบ ให้ครบถ้วน

     - กดบัตรคิว และรอเรียกคิว

     - ผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจต่อหน้าเจ้าหน้าที่

     - ชำระค่าธรรมเนียมในการรับรองเอกสารหรือลายมือชื่อ

     - ระยะเวลาดำเนินการ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง กรณีเอกสารครบถ้วน ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้มารับบริการ

 

*****************************************************

 

การขอทำหนังสือมอบอำนาจ (Power of Attorney) (สำหรับบุคคลต่างชาติ)

ขั้นตอนการทำหนังสือมอบอำนาจ สำหรับบุคคลต่างชาติ

     - ชาวต่างชาติ ต้องนำหนังสือมอบอำนาจไปลงนามต่อหน้า Notary Public เพื่อรับรองลายเซ็นของผู้มอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนา หนังสือเดินทาง ของผู้ร้อง ซึ่งต้องรับรองโดย Notary Public ด้วย ท่านสามารถค้นหา Notary Public ได้ที่

          ACT Public Notaries Public in the ACT (Supreme Court of the ACT)

          NSW Public Notaries (The Society of Notaries of New South Wales)                   

          Northern Territory Public Notaries (Supreme Court of the NT)

          Queensland Public Notaries (The Society of Notaries Queensland)

          South Australian Public Notaries (Notaries' Society of South Australia)

          Tasmanian Public Notaries (The Law Society of Tasmania)

          Victorian Public Notaries (The Society of Notaries of Victoria)

          Western Australian Public Notaries (WA Justice Department)

     - เอกสารที่ผ่านการรับรองจาก Notary Public แล้วจะต้องผ่านการรับรอง (Authentication) จากกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย (Department of Foreign Affairs and Trade (DFAT) (คลิกเพื่อดูรายละเอียด)

     - เอกสารต้นฉบับที่ผ่านการรับรอง (Authentication) จากกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย (Department of Foreign Affairs and Trade (DFAT)) แล้ว ยื่นเพื่อรับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ในเอกสารต้นฉบับ (Legalisation) ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (คลิกเพื่อดูลายละเอียด)


4.คำถามที่พบบ่อย

     ถาม การรับรองลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจสามารถส่งเอกสารมารับรองทางไปรษณีย์ได้หรือไม่
     ตอบ ไม่ได้ เพราะการทำหนังสือมอบอำนาจเป็นการทำนิติกรณ์ที่ให้เจ้าหน้าที่รับรองว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจจริง และผู้มอบอำนาจมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่จริง

     ถาม แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจจะใช้แบบไหน และข้อความการเขียนในหนังสือมอบอำนาจจะเขียนอย่างไร
     ตอบ ต้องใช้แบบฟอร์มการมอบอำนาจตามที่หน่วยงานนั้นกำหนด โดยเฉพาะการมอบอำนาจเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน แนะนำให้ติดต่อสอบถามรายละเอียดกับหน่วยงานนั้นโดยตรง

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาส่งมาที่อีเมล: [email protected]

 

Website-Icon-2-70_2

***************************

สถานะวันที่ 22 พ.ย. 2564