การบรรยายพิเศษ เรื่อง “จากชุดไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม”

การบรรยายพิเศษ เรื่อง “จากชุดไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม”

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 พ.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 31 พ.ค. 2567

| 505 view
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “จากชุดไทยถึงชุดไทยพระราชนิยม” พร้อมการสาธิตการแต่งกายชุดไทยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปวัฒนธรรมในหลากหลายแขนง โดยเฉพาะผ้าไทย เป็นผู้บรรยาย ปัจจุบัน ผศ.ดร. อนุชาฯ ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คณะกรรมการประกวดผ้าไทยลายพระราชทาน ผู้ดำเนินการจัดทำข้อมูลโขนเพื่อเสนอต่อองค์การ UNESCO เพื่อรับรองเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ และอยู่ระหว่างจัดทำชุดข้อมูล เพื่อให้รัฐบาลผลักดันให้มรดกวัฒนธรรม “ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการต่างกายชุดไทยประจำชาติ” บรรจุอยู่ในรายชื่อมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติขององค์การ UNESCO ต่อไป
 
ในการบรรยาย ผศ.ดร. อนุชาฯ ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของการแต่งกายชุดไทยที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่การแต่งกายของสตรีสมัยทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 11 - 12 สืบเนื่องมาในยุคสมัยต่าง ๆ ของไทยจนถึงสมัยปัจจุบัน โดยการแต่งกายชุดไทยประจำชาติมีจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบชุดไทยประยุกต์ 8 แบบ ให้นำไปจัดแสดงเผยแพร่ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี งานกาชาดสากล วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2507 อันได้แก่ ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยจักรพรรดิ ชุดไทยดุสิต และชุดไทยศิวาลัย เพื่อให้เป็นแบบแผนในการประยุกต์ใช้หรือสวมใส่ให้เหมาะสมกับงานพิธีในโอกาสต่าง ๆ อันแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของไทย นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบชาวไทยและชาวต่างชาติ ออกแบบและตัดเย็บฉลองพระองค์จากผ้าไทยในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านงานช่างฝีมือ ส่งเสริมผ้าทอและงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก
 
ผศ.ดร. อนุชาฯ เน้นย้ำว่า แนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งการจะรักษาและสืบทอดให้คงอยู่ต่อไปได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่คนในสังคมจะต้องช่วยกันรักษาและปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป จึงขอให้ชุมชนไทยช่วยกันสืบสานวัฒนธรรมอันมีคุณค่าของไทย และช่วยกันเผยแพร่ให้แก่มิตรชาวออสเตรเลียและชาวต่างชาติทราบต่อไป
สำหรับผู้สนใจรับชมความงดงามของผ้าไทยและฉลองพระองค์ในโอกาสต่าง ๆ สามารถเข้าชมการจัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ของพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ