การจดทะเบียนหย่า

การจดทะเบียนหย่า

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 12 ต.ค. 2566

| 30,919 view

Website-Icon-2-70_2 

1. หลักเกณฑ์และข้อมูลทั่วไป

     - ต้องจองคิวล่วงหน้า 5 วัน

     - กรอกแบบฟอร์มออนไลน์ + อัพโหลดเอกสารออนไลน์ล่วงหน้า เท่านั้น

     - ไม่มีค่าธรรมเนียม

     - ตามกฎหมายไทย เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า ฝ่ายซึ่งใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน (ดำเนินการด้วยตนเองที่เขต หรือ อำเภอที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน โดยทำเรื่องมอบอำนาจได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ)

     - สามารถหย่าต่างสำนักทะเบียนได้ กรณีคู่หย่าอยู่คนละประเทศ

คุณสมบัติคู่หย่า

     - คู่หย่าต้องมาจดทะเบียนหย่าด้วยตนเองต่อนายทะเบียนที่สถานกงสุลใหญ่ฯ พร้อมพยาน 2 คน

     - จดทะเบียนหย่าได้เฉพาะในกรณีที่คู่หย่าจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยเท่านั้น

     - การยื่นจดทะเบียนหย่าต้องเป็นไปโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และได้ทำข้อตกลงร่วมกันเรื่องอำนาจปกครองบุตร ทรัพย์สิน หนี้สินและอื่นๆ (หากมี)


2. เอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนหย่า

     2.1 เอกสารคู่หย่า (ต้องอัพโหลดเอกสารออนไลน์และนำเอกสารทั้งหมดมาแสดงในวันนัดจดทะเบียนหย่า)

          - คู่หย่าสัญชาติไทย 1) บัตรประจำตัวประชาชน (ต้นฉบับ) 2) พาสปอร์ตไทย (ต้นฉบับ) 3) สำเนาทะเบียนบ้าน

          - คู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ พาสปอร์ต หรือ ใบขับขี่ (ต้นฉบับ)

          - ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนสมรสต้นฉบับของคู่หย่า จำนวน 2 ฉบับ

     2.2 เอกสารพยาน (ต้องมีอายุ 20 บริบูรณ์ขึ้นไป และต้องอัพโหลดออนไลน์ นำเอกสารทั้งหมดมาแสดงในวันนัด)

          - พยานสัญชาติไทย 1) บัตรประจำตัวประชาชน (ต้นฉบับ ) 2) พาสปอร์ตไทย (ต้นฉบับ)

          - พยานชาวต่างชาติ พาสปอร์ต หรือ ใบขับขี่ (ต้นฉบับ)

 


3. ขั้นตอนการจดทะเบียนหย่า

     - ต้องจองคิวนัดจดทะเบียนหย่า ล่วงหน้า 5 วัน ที่เว็บไซต์ของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์

     - กรอกข้อมูลและอัพโหลดเอกสารออนไลน์ให้ครบถ้วน โดยเฉพาะข้อตกลงร่วมกันเรื่องอำนาจปกครองบุตร ทรัพย์สิน หนี้สินและอื่นๆ (หากมี)

     - จะได้รับอีเมลตอบกลับเพื่อยืนยันการจองคิว

     - ในวันนัดหมาย คู่หย่าต้องนำพยานมาด้วย 2 คน พร้อมเอกสารทั้งหมดที่อัพโหลด (รายละเอียดตามข้อ 2) มาในเวลาที่นัดหมาย

     - ระยะเวลาดำเนินการอยู่ที่ 1 - 2 ชั่วโมง กรณีเอกสารครบถ้วน

 

การหย่าต่างสำนักทะเบียน

     การหย่าต่างสำนักทะเบียน คือ การหย่าโดยความยินยอมของคู่หย่าทั้งสองฝ่าย โดยที่คู่หย่าทั้งสองฝ่ายอยู่กันคนละที่และไม่สามารถเดินทางไปจดทะเบียนหย่าพร้อมกันที่สำนักทะเบียนได้ คู่หย่าจะต้องตกลงกันว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียน โดยฝ่ายที่ยื่นคำร้องก่อนจะเป็นสำนักทะเบียนที่ 1 ส่วนอีกฝ่ายจะเป็นสำนักทะเบียนที่ 2

     การจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน ทำได้ในกรณีที่คู่หย่าตกลงจะหย่าขาดจากกัน แต่ทั้งคู่มีภูมิลำเนาอยู่กันคนละแห่ง เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาศัยอยู่ต่างประเทศไม่สามารถยื่นคำร้องพร้อมกันได้ก็สามารถยื่นขอจดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียนได้ มีขั้นตอน ดังนี้

          1. ให้คู่หย่าทั้ง 2 ฝ่ายตกลงในเรื่องทรัพย์สิน การใช้อำนาจปกครองบุตร หรือเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร/ผู้เยาว์ หรือเรื่องอื่น ๆ โดยระบุไปในหนังสือสัญญาหย่าแล้วลงลายมือชื่อคู่หย่าทั้ง 2 ฝ่ายและมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คน

          2. คู่หย่าทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องทำการตกลงกันว่าคู่หย่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ยื่นคำร้องก่อน หรือหลัง และแต่ละฝ่ายจะยื่นต้องยื่นคำร้อง ณ สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ เขต หรือสถานทูต สถานกงสุลใหญ่ (โดยสำนักที่ 1 จะเป็นผู้ยื่นคำร้องก่อน เมื่อเอกสารไปถึงสำนักทะเบียนที่ 2 เจ้าหน้าที่จากสำนักทะเบียนที่ 2 จะติดต่อผู้ร้องเพื่อเข้าไปดำเนินการหย่า)

          3. กรณีที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ เป็นสำนักทะเบียนที่ 1 คู่หย่าฝ่ายที่อยู่ที่ออสเตรเลียส่งหนังสือสัญญาหย่า (ที่มีลายเซ็นของคู่หย่าอีกฝ่าย) และเอกสาร (ตามข้อ 2) มาที่อีเมล [email protected] เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและนัดหมายมาลงนามในเอกสารที่สถานกงสุลใหญ่ฯ โดยจะต้องมาพร้อมกับพยาน 2 คน

     *การหย่าต่างสำนักทะเบียน อาจใช้เวลา 3-6 เดือน เนื่องจากต้องส่งเอกสารไปที่สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ เขต ของคู่หย่าอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อลงชื่อในทะเบียนหย่า

 

4.คำถามที่พบบ่อย

     ถาม เมื่อทำการหย่าเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายหญิงสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าจาก นาง เป็น นางสาว หรือเปลี่ยนชื่อสกุลได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้หรือไม่
     ตอบ ไม่ได้ จะต้องดำเนินการเปลี่ยนข้อมูลในฐานทะเบียนราษฎรที่สำนักงานเขต หรืออำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ หากไม่สามารถกลับไปดำเนินการด้วยตนเอง สามารถทำเรื่องมอบอำนาจที่สถานกงสุลให้บุคคลที่ประเทศไทยดำเนินการแทนได้

     ถาม เมื่อทำการหย่าเสร็จสิ้นแล้ว จะยังคงใช้นามสกุลของอีกฝ่ายได้หรือไม่
     ตอบ ไม่ได้ หากการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า หรือ ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการสมรส ฝ่ายซึ่งใช้นามสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องกลับไปใช้นามสกุลเดิมของตน

     ถาม หากคู่หย่าฝ่ายหนึ่งอยู่ต่างประเทศ สามารถจดทะเบียนการหย่าได้หรือไม่
     ตอบ ทำได้ เมื่อคู่หย่าทั้งสองฝ่ายยินยอม สามารถทำการการหย่าต่างสำนักทะเบียนได้


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนหย่า กรุณาส่งมาที่อีเมล: [email protected]

 

Website-Icon-2-70_2 

*********************

สถานะวันที่ 22 พ.ย. 2564